นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “น้ำกับความเปลี่ยนแปลง” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีการประกวดงานศิลปะสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่แสดงถึงแก่นแท้ความคิดผ่านงานเสมือนจริง และงานศิลปะรูปลักษณ์ โดยผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “ตะเพี๊ยนตะเพียน” โดย คุณนิรัชพร น่วมเจิม รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “Waterworld” โดย คุณเญอรินดา แก้วสุวรรณ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลคุณหญิงวรรณา ได้แก่ “ธาราแห่งความงอกงาม” โดย คุณธีรพล สีสังข์ รับเงินรางวัล 400,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “จุดเริ่มต้น – Genesis” โดย คุณนารา วิบูลย์สันติพงศ์ รับเงินรางวัล 250,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย คุณพงศ์ศิริ คิดดี คุณสิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์ คุณอนันต์ยศ จันทร์นวล คุณธีรพล โพธิ์เปียศรี คุณบุญมี แสงขำ และรางวัลชมเชย อีก 12 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท
การประกวดครั้งนี้ มีศิลปินร่วมส่งประกวดทั้งหมด 391 ท่าน และมีจำนวนผลงานทั้งสิ้น 458 ชิ้น และผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 52 ชิ้น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานรางวัลตั้งแต่การประกวดครั้งแรกตราบจนปัจจุบัน และขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ตลอดจนศิลปินผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกคน และจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยประสบความสำเร็จสืบเนื่องต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังขยายผลโครงการให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานสู่สายตาของกลุ่มคนที่หลากหลาย และวงกว้างขึ้น ในงาน Sustainability EXPO 2025 ซึ่งเป็นมหกรรมด้านความยั่งยืนที่จัดอย่างต่อเนื่องสู่ปีที 6 โดยมีแนวคิดหลักคือ พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก จึงเชื่อว่าผลงานบางส่วนของโครงการศิลปกรรมช้างเผือกชุดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลโลก เพื่อโลกที่ดีขึ้น ผ่านมิติทุกด้าน รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ในแนวทาง Arts for Sustainability ขอเชิญชวนทุกท่าน พบกับนิทรรศการนี้อีกครั้ง ในงาน SX2025 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2568 Zone Better World ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”
คุณนิรัชพร น่วมเจิม ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ในผลงานชื่อ “ตะเพี๊ยนตะเพียน” เผยว่า “งานชิ้นนี้พูดถึงเรื่อง น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง คือความอุดมสมบูรณ์ที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เราหยิบยกนำวัสดุเหลือใช้จากเครื่องมือหาปลานำมาสานเป็นปลาตะเพียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยสื่อสารให้กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่หายไป และหยิบตัวละครของชาวบ้าน เรื่องราววิถีชีวิตชนบทที่ใช้ชีวิตประจำวันกับแม่น้ำลำคลอง ครอบด้วยกล่องอะคริลิกสีแดง ตู้กระจกที่สะท้อน และใส่เสียงซาวด์เพื่อเพิ่มอรรถรส มันเหมือนกับการสะท้อนตัวเราและเรื่องราวในอดีต ซึ่งวันหนึ่งมันอาจคงอยู่เพียงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นวัตถุที่บอกเล่าเรื่องราวอันล้ำค่าต่อไป”
คุณเญอรินดา แก้วสุวรรณ ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศ ในผลงานชื่อ “Waterworld” เผยว่า “ผลงาน Waterworld สะท้อนถึงวัฏจักรน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศต่างๆ และสิ่งมีชีวิต ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปดำน้ำ และเห็นถึงปะการังที่ฟอกขาวส่งผลกระทบทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม เสียสมดุลในระบบนิเวศในน้ำ เราจึงอยากนำเสนอในมุมมองใหม่ คือปรับเปลี่ยนวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยทั้งบนบก บนขั้วโลกเหนือ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ยกมาไว้ในน้ำทำให้เป็นโลกใต้น้ำ โดยใช้เทคนิคเย็บปักถักร้อย ที่ตัวเองชื่นชอบอยู่แล้ว นำเสนอผ่านมุมมองพึ่งพิงอิงอาศัยและโอบอุ้มซึ่งกันและกัน ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำเป็นตัวเชื่อม เพราะเชื่อว่าน้ำเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตบนบกหรือว่าใต้น้ำ อยากให้ทุกคนที่เห็นผลงานชิ้นนี้ได้เห็นถึงคุณค่าของน้ำ และกลับมาดูแลเอาใจใส่ธรรมชาติและระบบนิเวศรอบตัวเราค่ะ”
คุณธีรพล สีสังข์ ผู้ชนะรางวัลคุณหญิงวรรณา ในผลงานชื่อ “ธาราแห่งความงอกงาม” เผยว่า “น้ำเป็น สิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างบนโลกใบนี้ สำหรับผลงานชิ้นนี้ เรานำลวดทองแดงมาบิด ขมวดเป็นทรงต่างๆ เราใช้ 3 ไซส์ คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ใช้ลวดขนาดเล็กบิดไปเรื่อยๆเป็นลักษณะฟอร์มใบของต้นไม้ และประกอบจากยอดต้นไม้ลงมาเรื่อยๆ และอิงจากต้นไม้จริงคือลักษณะการแตกกิ่งก้านใบของต้นไม้ ที่ได้รับแสงอย่างสมบูรณ์ ประกอบจนกลายเป็นต้นไม้หนึ่งต้น และนำมาติดตั้งเข้ากับคลื่นน้ำที่เป็นวัสดุสแตนเลส ผมรู้สึกว่าต้นไม้กับน้ำมีความสัมพันธ์กัน ต้นไม้หนึ่งต้นหากได้ดูดซับน้ำอันบริสุทธิ์จะงอกงาม แผ่กิ่งก้านใบ กระจายเมล็ดพันธุ์อันแข็งแกร่งออกไป จนกลายเป็นนิเวศที่กว้างใหญ่ เป็นที่พักพิง เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่ง ผมจึงหยิบไอเดียตรงนี้ มาเป็นต้นแบบในการสร้างงานศิลปะของผมครับ”
คุณนารา วิบูลย์สันติพงศ์ ผู้ชนะรางวัล CEO AWARD ในผลงานชื่อ “จุดเริ่มต้น – Genesis” เผยว่า “น้ำกับความเปลี่ยนแปลง หนูตีความว่าหากในอนาคตเราไม่ดูแลรักษาน้ำ เราจะต้องสร้างเครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อทำให้น้ำที่มีสารปนเปื้อนหรือสารเคมีต่างๆ กลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการดูแลรักษาน้ำ และสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ตลอดไป ผลงานชิ้นนี้เป็นสื่อผสมที่ใช้วัสดุหลายอย่าง ทั้งดินและขยะ ปัจจุบันในน้ำมีคนทิ้งขยะลงไปมากมาย จึงเลือกที่จะนำขยะและวัสดุที่เหลือใช้กลับมาทำเป็นผลงานชิ้นนี้ หนูคิดว่างานศิลปะทำให้คนสามารถเข้าถึงเรื่องที่เราต้องการจะสื่อได้ โครงการศิลปกรรมช้างมีหัวข้อที่น่าสนใจและเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราอยากจะช่วยส่งต่อเรื่องราวดีๆให้กับคนอื่นถือเป็นโอกาสที่ดี ในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมค่ะ”
นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 จัดแสดงผลงาน “น้ำกับความเปลี่ยนแปลง” จะเปิดให้ประชาชน เข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 11 พฤษภาคม 2568 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และผลงานบางส่วนนำไปจัดแสดงให้ชมอีกครั้งในงาน SX2025 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2568 Zone Better World ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
0 Comments