Ad Code

Recent Posts

ศูนย์คุณธรรมฯเผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและ ทุนชีวิต ปี 67 กลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย พร้อมจัดเสวนาภายใต้แนวคิด “Sustainable Value Creation ..รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน” ให้มุมมองและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน


ศูนย์คุณธรรมฯเผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและ
ทุนชีวิต ปี 67 กลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย พร้อมจัดเสวนาภายใต้แนวคิด
“Sustainable Value Creation ..รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน”
ให้มุมมองและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของงานวิจัย องค์ความรู้ และโพลสำรวจสถานการณ์ด้านคุณธรรม เพื่อมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นด้านคุณธรรม วิธีการแก้ไขปัญหา และปรากฏการณ์ด้านบวกและลบ ทั้งระดับปัจเจก ระดับชุมชน และสังคม เพื่อรณรงค์ปลูกฝังด้านจิตสำนึกแก่ประชาชน โดยเชื่อมโยงกับคุณธรรม 5 ด้าน ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ กตัญญู และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เผยว่า “ปัจจุบันได้มีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ประจำปี 2567 ด้วย 2 เครื่องมือ คือดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ในกลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี อายุ 25-40 ปี และ อายุ 41 ปีขึ้นไป รวม 29,432 คน ใน 6 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ดัชนีชี้วัดคุณธรรมภาพรวม 3 ช่วงวัยอยู่ในระดับพอใช้ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 4.32 จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.73 ลดลง 8.67% และคุณธรรม 5 ด้าน ภาพรวม 3 ช่วงวัย พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4,17, 4.27 และ 4.19 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.64 และ 4.35 และเป็นที่น่าสังเกตว่าคุณธรรมด้านสุจริต อยู่ในระดับน้อยทั้ง 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี ค่าเฉลี่ย 4.21 อายุ 25-40 ปี ค่าเฉลี่ย 4.04 และอายุ 41 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ย 4.31


ในขณะที่ผลสำรวจทุนชีวิตภาพรวม ปี 2567 ใน 3 ช่วงวัย พบว่า อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.57 เปรียบเทียบปี 2566 ที่อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 83.80 ลดลง 7.43% และผลสำรวจทุนชีวิตรายพลัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศรอบตัวมนุษย์ที่เป็นรากฐานของการดำรงชีวิตและเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหา ประกอบไปด้วย 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน พบว่า ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี พลังตัวตนอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 80.15 ขณะที่ อายุ 25-40 ปี พลังตัวตน และพลังครอบครัว อยู่ในระดับดีมาก คือ ร้อยละ 81.13 และร้อยละ 80.70 ส่วน อายุ 41 ปี ขึ้นไป ทั้ง 5 พลัง อยู่ในระดับดี พลังตัวตน ร้อยละ 78.24 พลังครอบครัว ร้อยละ 77.94 พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร ร้อยละ 76.21 พลังเพื่อนและกิจกรรม ร้อยละ 75.58 และพลังชุมชน ร้อยละ 74.66 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสำรวจทุนชีวิตรายข้อ ใน 3 ช่วงวัย มีเรื่องเดียว ที่มีคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง คือ พลังชุมชน อายุ 13-24 ปี เรื่องการมีเพื่อนบ้านที่สนใจและให้กําลังใจ ร้อยละ 69.04”


โดย มีข้อเสนอแนะ หลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.) ควรหยิบยกประเด็นคุณธรรมด้านสุจริตและด้านวินัยรับผิดชอบ มาเป็นประเด็นร่วมในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในลักษณะที่เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศ ทั้ง (a.) ระบบภาพรวมของสังคม (Macro system) เช่นคุณธรรมด้านสุจริต คือการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ชัดเจน เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างและพัฒนาระบบแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle-blower) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการให้ข้อมูลและร้องเรียนเรื่องทุจริต เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการไม่ทนต่อการทุจริต และคุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องวินัยรับผิดชอบ โดยเฉพาะวินัยจราจร (b.) ระบบสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดมนุษย์ (Micro system) เช่น ครอบครัว สถานศึกษา องค์กร ชุมชน อาทิ การส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตและวินัยรับผิดชอบโดยมีจุดเริ่มจากครอบครัว และใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน และ (c.) สื่อ (Media) คือ การใช้พลังของสื่อในการพัฒนา Soft skill การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ในเรื่องสุจริตและวินัยรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง



รวมถึงข้อเสนอแนะที่ 2.) รณรงค์ให้เกิดความเข้าใจ และรู้เท่ากระแสบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านวินัยทางการเงิน และส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน และ 3.) ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของคนวัยทำงานในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเรียนรู้ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2583 และการ เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างสรรค์ ที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมจิตอาสาควรบูรณาการงาน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือสร้างภาระให้กับเด็กและเยาวชน


และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนา ในแนวคิด Sustainable Value Creation “รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน” โดยได้วิทยากรชื่อดัง มาร่วมแลกเปลี่ยน ข้อมูล อาทิ ณัฐกร เวียงอินทร์ หัวหน้าแผนกเนื้อหา และแบรนด์ดิ้ง บริษัท ไลค์มี จำกัด ซึ่งจะมาร่วมพูดคุยและให้มุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยืน คือแรงขับเคลื่อนโลก รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและมุมมองจากวิทยากร กูรูด้านความยั่งยืนของเมืองไทย ได้แก่ อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน, อมรพล หุวะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ลูป จำกัด (Moreloop) ในหัวข้อ “มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อในคนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไร ไปพร้อมกัน” และปิดท้ายด้วย เอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery เครือข่ายผู้บริโภครุ่นใหม่ที่สนใจการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนและ พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ อดีตพิธีกรดังสตรอเบอรี่ชีสเค้ก เจ้าของเพจ Pear is Hungry ที่นำเสนอเนื้อหาในด้านการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง Food waste ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร”

Post a Comment

0 Comments

Comments

Ad Code