การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา
ถ่ายทอดทุกศาสตร์ความงดงามของนาฏศิลป์โขน
ครบทุกอรรถรส
“งดงามเกินจินตนาการ” คงเป็นคำบรรยายที่ไม่เพียงพอ สำหรับการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ชุดพิเศษเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “รวมพลอาสาจงรักพระจักรี” ที่โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง รวมพลนักแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุง จากรุ่นครูถึงรุ่นศิษย์ร่วมแสดงครั้งแรก จัดแสดงขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา เมื่อวันเสาร์ที่ 27 - วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 รอบบ่ายสองโมง ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้เข้าเข้าชมอย่างเนืองแน่น
ศาลาเฉลิมกรุงซึ่งเป็นโรงมหรสพพระราชทานโดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงมหรสพหลวงแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ให้ความบันเทิงแก่ประชาชนชาวไทย ชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์โรงมหรสพหลวงแห่งนี้ไว้ เป็นสถานที่สำหรับจัดการแสดงโขนและการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมของชาติไว้ให้คงอยู่สืบไป ในวาระพิเศษนี้ศาลาเฉลิมกรุงจึงได้ร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคล ด้วยการแสดงโขน
ตอน “รวมพลอาสาจงรักพระจักรี” เป็นการรวมตัวของศิลปินผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่รุ่นครูถึงรุ่นศิษย์ครั้งแรก ในบทบาทต่างๆ ถ่ายทอดความงดงามของกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยากยิ่ง เพื่อร่วมดำเนินการตามรอย พระยุคลบาทในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมของชาติ
เปิดด้วยการแสดงเบิกโรง
ชุดทศเทวาอาศิรวาท เป็นการอัญเชิญเทพทั้ง 10 มาร่วมถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ผ่านการรำถวายพระพรที่วิจิตรงดงามยิ่ง โดยนาฏศิลปินจากรุ่นครูถึงรุ่นศิษย์ นำโดยนาฏศิลปินอาวุโสที่มาร่วมรำถวายอย่างวิจิตรบรรจงงดงามยิ่ง ได้แก่
ครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง (ศิลปินแห่งชาติ) ในบทบาท พระอิศวร ครูศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) ในบทบาท พระนารายณ์ ครูวีระชัย มีบ่อทรัพย์ ในบทบาท พระพรหม พร้อมด้วยนักแสดงรุ่นศิษย์ ซึ่งเป็นนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง
พระปัญจสิงขร รับบทโดย จิรพัทธ์ พานพุด
พระปรคนธรรพ์ รับบทโดย พิพัฒน์ รจนากร
พระคเณศ รับบทโดย กฤษกร สืบสายพรหม
พระอินทร์ รับบทโดย ธนพล สุขสมรูป
พระวิษณุกรรม รับบทโดย ราชัน ดาวทอง
พระอาทิตย์ รับบทโดย ปัณธร จันทร์นิ่ม และ
พระจันทร์ รับบทโดย ปัณณทัต ธนินพิมล
รวมพลนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุงถ่ายทอดทุกศาสตร์ของความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมและรวมองค์ประกอบของทุกส่วนของนาฏศิลป์ “โขน” ได้อย่างลงตัว แสดงโดยนาฏศิลปินชั้นครู
ธีรเดช กลิ่นจันทร์ ฤทธิเทพ เถาว์หิรัญ มารับบทพระราม
สมเจตน์ ภู่นา และ
พงษ์ศักดิ์ บุญล้น รับบทพระลักษมณ์ ร่วมด้วย โขนพระรุ่นศิษย์จากรุ่น สู่รุ่น ซึ่งล้วนเป็นนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุงมาร่วมถ่ายทอดกระบวนท่ารำได้อย่างงดงามยิ่ง
ด้านครูโขนลิง นำโดย
ครูวิโรจน์ อยู่สวัสดิ์ รับบทหนุมาน พร้อมด้วยลูกศิษย์ร่วมแสดง ได้แก่
ภัทรกฤษณ์ พุ่มพิพัฒน์ กิตติ จาตุประยูร พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง และครูผู้รับบทสุครีพ ได้แก่
กิตติพงษ์ ไตรพงศ์ - จุลทรัพย์ ดวงพัตรา ส่วนฤษีแดง รับบทโดย
ครูจรัญ พูลลาภ และครูฝ่ายยักษ์ รับบททศกัณฐ์ โดย
วัชรวัน ธนะพัฒน์ และ
บัญชา สุริเจย์ ร่วมด้วยนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุงกว่า 100 ชีวิต มาร่วมแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติในโอกาสสำคัญนี้ กำกับการแสดงโดย
ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์(ศิลปินแห่งชาติ) บรรเลงโดย
วงโรหิตาจล ควบคุมวงโดย
สุรพงศ์ โรหิตาจล จับตอนตั้งแต่ นนทุกถูกเทวดานางฟ้ากลั่นแกล้ง จึงทูลขอพรพระอิศวรให้ประทานนิ้วเพชรแก่ตน เมื่อได้ นิ้วเพชรนนทุกจึงใช้สังหารเหล่าเทวดานางฟ้า พระนารายณ์จึงแปลงเป็นสาวงามมาลวงเพื่อปราบนนทุก นนทุก ลงไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ ส่วนพระนารายณ์อวตารมาเป็นพระราม พระพายให้กำเนิดวานรนามว่าหนุมาน เพื่อคอยเป็นข้าทหารของพระราม ทศกัณฐ์ลอบลักตัวนางสีดา มเหสีของพระรามไปไว้ที่กรุงลงกา พระรามเที่ยวตามหาจนมาพบหนุมานที่รออาสาช่วยพระรามในการรบ พิเภกแนะนำให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนให้แก่พระราม ทศกัณฐ์โกรธจึงขับไล่พิเภกออกจากเมือง เรื่องราวเข้มข้น สนุกสนาน
และสื่อให้เห็นความจงรักภักดีของหนุมานและเหล่าข้าทหารที่มีต่อพระราม ช่วยพระรามรบกับทศกัณฐ์ จนพระรามได้รับชัยชนะ คืนกลับมาครองเมืองอโยธยา
นับเป็นความโชคดีในวันนี้ที่ได้มีโอกาสได้ชื่นชมความวิจิตรงดงาม ของกระบวนท่ารำจากครูโขนและนักแสดงทุกท่านที่มาร่วมแสดง ซึ่งแทบจะหาโอกาสในการชมได้อย่างยากยิ่ง นับเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของ
“คนโขน” ที่นักแสดงโขนทุกคนล้วนเคยผ่านการแสดงบนเวที “โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง” จากรุ่นสู่รุ่น จากครูสู่ศิษย์ ถ่ายทอดกระบวนท่ารำ กระบวนการแสดงต่าง ๆ อย่างประณีต วิจิตร บรรจง กอปรกับการรังสรรค์ สร้างสรรค์ผลงาน ด้วยเทคนิค แสง สี เสียง ฉาก ที่สอดประสานสอดคล้องไหลลื่นกัน จนเวลาสองชั่วโมงครึ่งของการแสดง ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยรอยยิ้ม และเสียงปรบมือ ของผู้ชมทุกท่านที่เข้ารับชมอย่างเนืองแน่น แสดงให้เห็นแล้วว่า “โขน” จะยังคงอยู่คู่ แผ่นดินนี้สืบไป ตราบจนกว่าจะสิ้นเสียงปรบมือ และรอยยิ้มจากหัวใจ
0 Comments