Ad Code

Recent Posts

Royal Enfield เผยโฉม ‘Project Origin’ เปิดตำนาน ‘มอเตอร์ไซค์คันแรก’ ส่งต่อแรงบันดาลใจ ‘Pure Motorcycling’ สู่ปัจจุบัน


Royal Enfield เผยโฉม ‘Project Origin’
เปิดตำนาน ‘มอเตอร์ไซค์คันแรก’
ส่งต่อแรงบันดาลใจ ‘Pure Motorcycling’ สู่ปัจจุบัน

กรุงเทพ, 9 พฤษภาคม 2567 - Royal Enfield (โรยัล เอ็นฟีลด์) แบรนด์รถจักรยานยนต์ระดับโลก เผยโฉม ‘Project Origin’ นำรถจักรยานยนต์คันประวัติศาสตร์ของแบรนด์ให้กลับมาฟื้นคืนชีวิต อวดโฉมให้สาวก Royal Enfield ทั่วโลกได้ชื่นชม นับเป็นการรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน 123 ปี ของ Royal Enfield และด้วยความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดเจตนารมณ์ของแบรนด์ เรื่องราวของ Project Origin ถือเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจและจิตวิญญาณที่ Royal Enfield มุ่งมั่นสร้างเครือข่ายนักบิดสะท้อนเอกลักษณ์ ‘Pure Motorcycling’ หรือ “จิตวิญญาณของการขับขี่ที่แท้จริง” จนถึงปัจจุบัน


ด้วย tagline ‘Since 1901’ ภายใต้แบรนด์ Royal Enfield สะท้อนเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 123 ปี ของ Royal Enfield ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความมุ่งมั่น ความทุ่มเท และความ

หลงใหลในโลกของรถมอเตอร์ไซค์ที่แบรนด์ยังคงยืนหยัดผลิตมอเตอร์ไซค์ที่มีเอกลักษณ์มาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ‘ปี 1901’ จึงไม่ใช่แค่ปีที่ Royal Enfield ถือกำเนิด แต่ยังเป็นปีที่สร้างตำนานบทใหม่ให้กับวงการมอเตอร์ไซค์ที่ครองใจผู้รักการผจญภัย และหลงใหลในเสน่ห์ของรถมอเตอร์ไซค์มาจนถึงปัจจุบัน

‘Project Origin’ เกิดขึ้นจากความท้าทายที่คุณ กอร์ดอน เมย์ นักประวัติศาสตร์ของ Royal Enfield มอบโจทย์ให้กับทีมนักออกแบบและวิศวกรรมของ Royal Enfield ให้ช่วยสร้างสรรค์ ‘รถมอเตอร์ไซค์คันแรก’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1901 โดยผลงานความภาคภูมิใจนี้ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง จูลส์ โกเบียต วิศวกรชาวฝรั่งเศส และ บ็อบ วอล์คเกอร์ สมิธ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้านักออกแบบของ Royal Enfield


ในยุคแรกของวงการมอเตอร์ไซค์ ยังไม่มีการจัดงานแสดงรถมอเตอร์ไซค์อย่างแพร่หลาย รถมอเตอร์ไซค์ต้นแบบของ Royal Enfield คันนี้จึงถูกนำไปจัดแสดงในงาน ‘Stanley Cycle Show’ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1901 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รถมอเตอร์ไซค์สองล้อจาก Royal Enfield ปรากฏโฉมต่อสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของ Royal Enfield ยังคงมีบางส่วนที่ขาดหายไป ไม่สามารถสืบค้นหาแบบแปลนการออกแบบหรือภาพวาดทางเทคนิคต้นฉบับที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจนในการศึกษาการสร้างสรรค์รถมอเตอร์ไซค์คันนี้ได้ สิ่งที่หลงเหลืออยู่เป็นเพียงภาพถ่ายโบราณไม่กี่ภาพ โปสเตอร์โฆษณาในยุคนั้น รวมถึงบทความประกอบภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 1901 จำนวน 2-3 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ นำไปสู่การสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเชิง การออกแบบและการทำงานที่อาจจะเป็นไปได้ของรถมอเตอร์ไซค์คันนี้เท่านั้น

ในส่วนของการออกแบบ หัวใจของความแตกต่างอยู่ที่ระบบเครื่องยนต์ กลไก และหลักสรีรศาสตร์ โดยเครื่องยนต์ 1 ¾ แรงม้าของรถมอเตอร์ไซค์ต้นแบบนี้ ติดตั้งอยู่เหนือล้อหน้าบริเวณคอรถ ส่งกำลังไปยังล้อหลังด้วยสายพานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแนวคิดของ จูลส์ โกเบียต วิศวกรชาวฝรั่งเศส ตั้งใจออกแบบมาเพื่อลดอาการเสียศูนย์ทางด้านข้างที่มักเกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซค์ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าในยุคนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นคือ การออกแบบตัวเครื่องยนต์ของรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield แบบแนวนอน ซึ่งแตกต่างจากเครื่องยนต์ทั่วไปที่มักแยกครึ่งแบบแนวตั้ง ข้อดีของการออกแบบทรงนี้ ช่วยป้องกันน้ำมันเครื่องรั่วไหลไปโดนล้อหน้า

สำหรับระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อาศัยคาร์บูเรเตอร์แบบ Longuemare spray ติดตั้งอยู่ด้านข้างถังน้ำมัน ต่ำกว่าระดับฝาสูบ โดยมีท่อทางเดินความร้อนจากท่อไอเสีย เพื่อช่วยให้น้ำมันรักษาระดับความร้อน สำหรับระบบหล่อลื่น ผู้ขับขี่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นหยอดเข้าไปในตัวเครื่องยนต์ด้วยปั๊มมือที่ติดตั้งอยู่ด้านซ้ายของสูบ โดยน้ำมันจะถูกเผาไหม้หมดภายในระยะทาง 10-15 ไมล์ จึงจำเป็นต้องเติมน้ำมันหล่อลื่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ

ฝาสูบมาพร้อมกับระบบวาล์ไอเสียแบบกลไกและวาล์อัตโนมัติ โดยวาล์อัตโนมัติจะปิดโดยสปริงและเปิดออกด้วยแรงดูด เมื่อลูกสูบเคลื่อนที่ลง แรงดูดจะเปิดวาล์อัตโนมัติให้อากาศและน้ำมันไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ระบบจุดระเบิดอาศัยชุดจานจ่ายแบบตัดต่อ ส่งกระแสไฟไปยังหัวเทียน ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้อยู่ในรอบต่ำ


การสตาร์ทเครื่องยนต์ ใช้แรงปั่น หลังจากเครื่องยนต์ติด ผู้ขับขี่จะปรับคันเร่ง เป็นการปรับเปิด-ปิดคาร์บูเรเตอร์ ควบคุมด้วยคันโยกทางด้านขวาของถังน้ำมัน สำหรับการลดความเร็ว ผู้ขับขี่จะใช้ลิฟท์วาล์วควบคุมการเปิด-ปิดวาล์ไอเสีย ระบบเบรกของล้อหน้าเป็นแบบแบนด์เบรก ควบคุมด้วยมือซ้าย ส่วนล้อหลังใช้เบรกแบบแบนด์เบรกเช่นกัน แต่ควบคุมด้วยการถอยหลัง เบาะนั่งเป็นเบาะหนัง Lycette La Grande ล้อขนาด 26 นิ้ว สวมยาง Clipper 2 x 2 นิ้ว

ด้วยการออกแบบเครื่องยนตร์และสรีระของตัวรถทั้งหมด หัวใจสำคัญของ Project Origin อยู่ที่การผสมผสานองค์ความรู้ใหม่เข้ากับภูมิปัญญาอันเก่าแก่ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญได้รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่าย และ ภาพประกอบต่างๆ จากปี 1901 เพื่อสร้างแบบจำลอง (CAD) ของชิ้นส่วนต่างๆ จากนั้นจึงนำไปขึ้นรูปด้วยการหล่อหรือกลึงขึ้นใหม่ทีละชิ้น

ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่การผลิตถังน้ำมันทองเหลือง ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถประดิษฐ์ขึ้นจากแผ่นทองเหลืองเพียงแผ่นเดียว ด้วยการดัด ขึ้นรูป และตอกอย่างประณีต ด้วยเครื่องมือโบราณที่แทบสูญหายไปจากกระบวนการผลิตในยุคปัจจุบัน โครงสร้างเฟรมแบบท่อของมอเตอร์ไซค์คันนี้ ได้รับการเชื่อมประสานด้วยทองเหลือง (brazing) อย่างพิถีพิถันโดยทีมงาน Harris Performance นอกจากนี้ ชิ้นส่วนสำคัญอย่างก้านโยกและสวิตช์ ก็ล้วนผ่านการขึ้นรูปด้วยมือจากเนื้อทองเหลืองเช่นกัน นอกจากนี้ ชิ้นส่วนแท้สมัยต้นศตวรรษที่ 20 ที่สามารถรวบรวมมาได้ อาทิ โคมไฟ แตร เบาะหนัง และล้อ ได้รับการบูรณะและชุบนิกเกิลขึ้นใหม่เพื่อให้มอเตอร์ไซค์ ‘Project Origin’ ดูราวกับว่าเพิ่งเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในงาน Stanley Cycle Show เมื่อปี 1901

คุณ อนุจ ดัว - หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ โรยัล เอ็นฟีลด์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Head of Business, Royal Enfield-APAC) กล่าวในงานเผยโฉม Project Origin ในประเทศไทยว่า “การนำ Project Origin มาอวดโฉมที่ประเทศไทย เพื่อแบ่งปันประวัติศาสตร์อันยาวนานของ Royal Enfield ที่เราภาคภูมิใจให้กับสาวก Royal Enfield ในประเทศไทยได้ร่วมชื่นชม การนำเสนอเรื่องราวนี้เราต้องการให้ผู้ที่ชื่นชอบรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและสำคัญมากสำหรับเรา เราเรียกประเทศไทยว่าเป็นบ้านหลังที่สองของ Royal Enfield ถัดจากอินเดียได้เลย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มลูกค้าชาวไทยและชุมชนมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเรา”


นอกจากนี้ คุณ กอร์ดอน เมย์ นักประวัติศาสตร์ของ Royal Enfield กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในแบรนด์ Royal Enfield ว่า "ทุกอย่างเริ่มต้นจากโชคชะตา ครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอังกฤษ มันคือรถมอเตอร์ไซค์ของ Royal Enfield นับจากนั้นมาก็เป็นความประทับใจต่อเนื่อง หลังจากนั้น ผมตัดสินใจออกเดินทางไกลด้วยรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield Bullet 350 เดินทางไปทั่วอินเดียและเนปาลเป็นเวลากว่า 5 เดือน ด้วยเอกลักษณ์ของรถ ผสานด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของแบรนด์ เริ่มตั้งแต่สหราชอาณาจักร มายังอินเดีย และขยายตลาดสู่ระดับโลก นับเป็นการเดินทางที่น่าทึ่งของแบรนด์ ทั้งหมดล้วนเป็นแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุดที่ทำให้ผมผูกพันกับ Royal Enfield มาจนถึงวันนี้"

‘Project Origin’ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความคิดสร้างสรรค์ที่ Royal Enfield ยึดมั่นมาตลอดระยะเวลากว่า 123 ปี ‘มอเตอร์ไซค์คันแรก’ คันนี้ เปรียบเสมือนรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับการเดินทางอันน่าทึ่งและยั่งยืน ของ Royal Enfield ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การแบ่งปันเรื่องราวของ ‘Project Origin’ ในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ Royal Enfield ในการเชื่อมโยงผู้ที่หลงใหลในรถมอเตอร์ไซค์ของแบรนด์ให้เข้าถึงจิตวิญญาณ ‘Pure Motorcycling’ อย่างแท้จริง

                                                    ###

เกี่ยวกับโรยัล เอ็นฟีลด์:

Royal Enfield แบรนด์รถจักรยานยนต์ที่มีสายการผลิตต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ได้สร้างสรรค์รถจักรยานยนต์ที่สง่างามมีเอกลักษณ์มาตั้งแต่ปี 1901 จากต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ ได้ส่งต่อศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์อันล้ำค่ามาสู่โรงงานผลิตในเมือง Madras เมื่อปี 1955 นับเป็นฐานการผลิตสำคัญที่ Royal Enfield สร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมรถสองล้อขนาดกลางในประเทศอินเดีย สเน่ห์และความน่าสนใจของ Royal Enfield คือความมีเอกลักษณ์ ไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ พร้อมมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานในการขับขี่ นับเป็นยานพาหนะที่เหมาะในการสำรวจเปิดโลก และแสดงออกถึงบุคลิกที่มีเอกลักษณ์ของผู้ขับ ซึ่งเป็นแนวทางที่แบรนด์เรียกว่า Pure Motorcycling

กลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมของ Royal Enfield ได้แก่ Hunter 350, Classic 350, Meteor 350, New Super Meteor 650, Interceptor 650, Continental GT 650 รวมถึงมอเตอร์ไซค์แนวผจญภัย The All-New Himalayan, Scram 411 ADV Crossover และ Bullet 350 ซึ่งกลุ่มนักขับขี่ผู้หลงใหลในเอกลักษณ์ของเครื่องยนต์และการตกแต่ง สามารถร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมายได้ตลอดทั้งปี ที่มีทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ Motoverse หรือที่รู้จักในนาม Rider Mania ซึ่งเป็นการรวมตัวประจำปีของผู้ที่ชื่นชอบ Royal Enfield หลากหลายพันคน จัดขึ้นที่รัฐโกอา ประเทศอินเดีย และยังมีงาน Himalayan Odyssey ซึ่งเป็นการเดินทางประจำปีบนภูมิประเทศที่ท้าทายที่สุด ผ่านภูเขาที่สูงที่สุด และสามารถสร้างความประทับใจได้มากที่สุดเช่นกัน

Royal Enfield คือหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของ Eicher Motors Limited ดำเนินธุรกิจผ่านตัวแทนจำหน่ายกว่า 2,050 แห่ง ทั่วเมืองใหญ่ในอินเดีย รวมถึงมีการส่งออกไปสู่ 1,150 สโตร์ในอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ Royal Enfield ยังมีศูนย์ดูแลเชิงเทคนิคระดับโลกสองแห่งในเมือง Bruntingthorpe สหราชอาณาจักร และในเมือง Chennai ประเทศอินเดีย โดยโรงงานผลิตที่ทันสมัยทั้งสองแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ Oragadam และ Vallam Vadagal ใกล้กับเมือง Chennai ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ Royal Enfield ยังมีโรงงานประกอบ CKD อันทันสมัย 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ เนปาล บราซิล ประเทศไทย อาร์เจนตินา และโคลัมเบีย และด้วยอัตรา CAGR เติบโตมากกว่า 35% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Royal Enfield นับเป็นผู้นำในตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดกลางระดับโลกอย่างแท้จริง

Post a Comment

0 Comments

Comments

Ad Code