เปิดตัว Interceptor™ 019
นวัตกรรมเรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
กรุงเทพฯ, 26 มีนาคม 2567 – The Ocean Cleanup ติดตั้ง Interceptor™ 019 เรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกรุงเทพมหานคร ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก
การดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย หลากหลายหน่วยงานได้จับมือเป็นพันธมิตรกัน ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพมหานคร, เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี, สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย, บริษัท อีโคมารีน จำกัด, บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อติดตั้งและดำเนินการ Interceptor 019 ในการดักจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งศึกษาปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อแม่น้ำและลำคลองสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
การติดตั้งเรือดักจับขยะบนผิวน้ำ Interceptor 019 เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระดับโลกในระยะยาวระหว่าง เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี และ The Ocean Cleanup มาตั้งแต่ปี 2021 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยป้องกันการเล็ดลอดของขยะพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก
แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย โครงการนี้ได้ติดตั้ง Interceptor 019 ที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีลำคลองจำนวน 61 สายไหลมาบรรจบในช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกพัดพามาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้จะมีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทรต่อไป
เรือดักจับขยะ Interceptor 019 ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการดักจับขยะแบบอัตโนมัติ และเป็น Interceptor ลำที่ 5 ของ The Ocean Cleanup ที่ติดตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า โดยได้ติดตั้งไปแล้ว 1 ลำในอินโดนีเซีย 1 ลำในเวียดนาม และ 2 ลำในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Interceptor ในสาธารณรัฐโดมินิกัน และเมืองลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา ด้วย
รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุน The Ocean Cleanup และพันธมิตร ในด้านการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเราในการจัดการขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การคัดแยกขวดพลาสติกใช้แล้วที่มีมูลค่าออกจากขยะอื่นๆ แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล สามารถช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ และลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่มหาสมุทรได้อีกทางหนึ่ง”
โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup กล่าวว่า “เรือดักจับขยะ Interceptor 019 เป็นก้าวสำคัญในการป้องกันไม่ให้มลพิษจากขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ ไหลลงสู่มหาสมุทร นับเป็นก้าวแรกของเราในประเทศไทยสำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและพันธมิตรเพื่อลดปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการดำเนินงานด้านการกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรในเมืองต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการโครงการติดตั้ง Interceptor ทั่วโลก ซึ่งเรามีแผนจะขยายไปอีกหลายแห่ง ภายใต้โครงการ Rivers ของเรา”
วิกเตอร์ หว่อง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว กล่าวถึงความสำเร็จจากความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ว่า “ความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลสำเร็จขึ้นในประเทศไทย คือการติดตั้ง Interceptor 019 ในแม่น้ำสายสำคัญอย่างเจ้าพระยา ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งเรายินดีอย่างมากที่ได้สนับสนุนโครงการ ผ่านการทดลองและเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป”
แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของมหาสมุทร ประเทศเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในวันนี้ เรายินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนสนับสนุนหมุดหมายที่สำคัญร่วมกันในการจัดการขยะพลาสติกที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
บทบาทของพันธมิตรในความร่วมมือครั้งนี้
• กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาประเภทของพลาสติกที่เล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อนำไปใช้วางแผนแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย
• สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีส่วนประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และแนะนำ The Ocean Cleanup กับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมลดปัญหาขยะพลาสติกที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทร
• กรุงเทพมหานคร ดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะอื่นๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
• บริษัท อีโคมารีน จำกัด และ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบการติดตั้งและปฏิบัติการของ Interceptor 019 เพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
• โคคา-โคล่า มีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับพันธกิจของ The Ocean Cleanup รวมถึงการสนับสนุนของชุมชน โดยภายใต้ความร่วมมือระดับโลกระหว่าง โคคา-โคล่าและ The Ocean Cleanup ได้ดำเนินการติดตั้ง Interceptor ไปแล้วใน เวียดนาม กัวเตมาลา มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ World Without Waste ของเดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี ที่มุ่งมั่นว่าจะช่วยจัดเก็บและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในปริมาณเทียบเท่ากับที่จำหน่ายออกไปภายในปี 2030
###
เกี่ยวกับ The Ocean Cleanup
The Ocean Cleanup เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไร มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก ผ่านการดำเนินงานใน 2 กลยุทธ์ คือ การดักจับขยะในแม่น้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล และการเก็บพลาสติกที่สะสมอยู่ในมหาสมุทร สำหรับการเก็บขยะพลาสติกในทะเล องค์กรได้พัฒนาและใช้ระบบขนาดใหญ่ที่เก็บขยะในพื้นที่แต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยะพลาสติกที่เก็บได้ยังสามารถติดตามและตรวจสอบด้วยโมเดล chain of custody ของ DNV เพื่อตรวจสอบย้อนกลับเมื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับการทำงานเพื่อยับยั้งการรั่วไหลของพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่ทะเล องค์กรได้พัฒนา Interceptor™ เพื่อสกัดและดักจับขยะในแม่น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่สมหาสมุทร The Ocean Cleanup ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย โบแยน สแลต ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาทำงานอยู่ราว 140 คน และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้เปิดสำนักงานสาขาแห่งแรกของภูมิภาคในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2023
0 Comments